วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2558

นิยามและเทคนิคการปฏิบัติ ส. สะอาด

นิยามและเทคนิคการปฏิบัติ ส. สะอาด


ส สะอาด เป็น ส ที่คนส่วนใหญ่มักคิดถึงเวลา กล่าวถึง 5 ส และทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าการทำ 5 ส คือการทำความสะอาด แต่ที่ถูกต้องแล้ว สะอาดในความหมายของ 5 ส ไม่ใช่แค่เพียงแต่การปัด กวาด เช็ด ถู แต่จะต้องครอบคลุมไปถึงการตรวจสอบด้วย โดยความหมายของ ส สะอาด คือการทำความสะอาด (ปัด กวาด เช็ด ถู) และตรวจสอบเครื่องมือ อุปกรณ์ รวมทั้งบริเวณสถานที่ทำงาน

การทำความสะอาด มีอยู่ 3 ระดับ คือ
     1. การทำความสะอาดประจำวัน
     2. การทำความสะอาดแบบตรวจสอบ
     3. การทำความสะอาดแบบบำรุงรักษา
     
 การทำความสะอาดประจำวัน (Daily Cleanliness)

โดยทำให้การทำความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งในหน้าที่ประจำวัน เป็นการปัด กวาด เช็ด ถู พื้นที่ทั่วไป พื้นที่การ ทำงาน ทางเดิน อุปกรณ์ ตู้ ชั้น ซอกมุม จุดเล็ก ๆ เป็นประจำทุกวัน ซึ่งจะทำให้ทุกสิ่งดูสะอาด ปราศจากฝุ่น ผง น้ำมัน รวมถึงการทำความสะอาดใหญ่ประจำปี หนึ่งหรือสองครั้งต่อปี การทำเช่นนี้ จะช่วยสร้างความรู้สึกการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของให้แก่บุคลากรได้
 การทำความสะอาดแบบตรวจสอบ (Cleanliness Inspection)

เมื่อการทำความสะอาดประจำวันกลายเป็นเรื่องปกติของการทำงานแล้ว ก็สามารถรวมการทำความสะอาดแบบ ตรวจสอบเข้ากับการทำความสะอาดประจำวันโดยใช้ประสาทสัมผัส ดังนี้

 การมองเห็น ขณะทำความสะอาด จะต้องคอยสังเกตสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นด้วย เพื่อจะได้ทำการซ่อมแก้ไขทันท่วงที

 การได้ยิน ในกรณีของครุภัณฑ์ บางครั้งเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น มักจะมีเสียงซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาณเตือน ให้ทราบว่า เริ่มมีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว ในขณะทำความสะอาดจะต้องคอยฟังเสียงที่เกิดขึ้นว่าผิดเพี้ยนไปจากเดิมหรือไม่ หากพบว่าเสียงผิดเพี้ยนไปจากเดิมจะต้องตรวจสอบและแก้ไขก่อนที่ปัญหานั้นจะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป

 การได้กลิ่น ส่วนต่าง ๆ ของครุภัณฑ์ไฟฟ้า เครื่องยนต์ เมื่อการทำงานติดขัด อาจจะทำให้เกิดกลิ่นไหม้ได้ หากปล่อยไว้ นานอาจทำให้เครื่องจักรเสียหายได้

 การสัมผัส บางครั้งการสัมผัสก็ทำให้ทราบถึงความผิดปกติของครุภัณฑ์ได้ เช่น กรณีของการสั่นสะเทือนที่ผิดปกติ เมื่อใช้มือสัมผัสก็จะทำให้ทราบได้ หรือในกรณีของอุณหภูมิที่ผิดปกติของครุภัณฑ์ เช่น ร้อนเกินไป ก็จะทำให้ทราบ ได้เช่นกัน แต่ผู้ตรวจสอบต้องระมัดระวังความร้อนที่เกิดขึ้นด้วย
 การทำความสะอาดแบบบำรุงรักษา (Cleanliness Maintenance) 

ระหว่างการทำความสะอาดแบบตรวจสอบ ถ้าบุคลากรค้นพบสิ่งผิดปกติ เล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถปรับปรุงหรือปรับแต่งแก้ไขได้ก็นับ เป็นส่วนหนึ่งของการทำความสะอาดแบบตรวจสอบ แต่ถ้าบุคลากรไม่สามารถแก้ไขได้เองก็ต้องมีระบบที่ดีในการติดต่อฝ่ายซ่อมบำรุง มาดำเนินการอย่างรวดเร็ว และบุคลากรประจำเครื่องควรมีใบตรวจสอบและบันทึกประวัติการผิดปกติและการซ่อมเพื่อเป็นข้อมูลที่ช่วย ในการวางแผนดูแลรักษาครุภัณฑ์
ขั้นตอนการทำความสะอาด

1. มอบหมายความเป็นเจ้าของพื้นที่


ก่อนที่จะเริ่มต้นทำความสะอาด สิ่งที่สำคัญอันดับแรกก็คือการแบ่งความรับผิดชอบในการทำความสะอาดให้ชัดเจน พื้นที่ต่าง ๆ จะต้องมีผู้รับผิดชอบหากการแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบคลุมเครืออาจทำให้ไม่มีผู้ใดเข้าไปทำความสะอาดได้

2. ศึกษาวิธีการใช้งานอุปกรณ์


ในการทำความสะอาดอุปกรณ์ผู้ทำความสะอาดจะต้องรู้และเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของอุปกรณ์เป็นอย่างดี เนื่องจากอุปกรณ์บางประเภทอาจมีกลไกหรือมีชิ้นส่วนที่เป็นอีเล็กทรอนิกส์อยู่หากทำความสะอาดโดยไม่มีความรู้ในสิ่งที่กล่าวมา อาจทำให้เกิดความเสียหายได้

3. กำหนดเวลาทำความสะอาด


ควรกำหนดเวลาในการทำความสะอาดให้เหมาะสมกับองค์กร เนื่องจากสภาพการทำงานของแต่ละองค์กรแตกต่างกัน การกำหนดเวลาทำความสะอาดไม่เหมาะสมอาจทำให้บุคลากรรู้สึกว่าการทำความสะอาดเป็นภาระ และกระทบต่องานปกติที่ทำอยู่ ซึ่งจะทำให้รู้สึกต่อต้านการทำความสะอาดได้ การกำหนดเวลาในการทำความสะอาดส่วนใหญ่มีหลายแบบ ดังนี้

 ก่อนและหลังการใช้งาน

 ก่อนทำงานและหลังเลิกงาน

 5 นาที 5ส

 ชั่วโมง 5ส ประจำวัน ประจำสัปดาห์ ประจำเดือน

 วัน 5ส ประจำสัปดาห์ เช่น ศุกร์ 5ส

 วันทำความสะอาดใหญ่ประจำปี

การกำหนดวันทำความสะอาดใหญ่ประจำปี จุดมุ่งหมายให้พนักงานได้ทำความสะอาดในส่วนที่เวลาปกติ ไม่สามารถทำความสะอาด ได้และอาจต้องใช้เวลามาก คณะกรรมการ 5ส จะต้องสื่อสารให้บุคลากรเข้าใจวัตถุประสงค์ ของการทำความสะอาดใหญ่ประจำปี ไม่เช่นนั้น บุคลากรอาจจะคิดไปว่าการทำความสะอาดจะต้องทำแค่ในวันทำความ สะอาดใหญ่เท่านั้น

4. กำหนดรายละเอียดของการทำความสะอาด


ในการทำความสะอาด ไม่ควรปล่อยให้บุคลากรทำกันเองโดยไม่มีการแนะนำเนื่องจากบุคลากรอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์และ ทำให้ อุปกรณ์ เสียหายได้ จุดต่าง ๆ ที่ต้องทำความสะอาดจะต้องระบุไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้บุคลากรทำความสะอาดได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง

5. ใช้อุปกรณ์และวิธีการทำความสะอาดที่ถูกต้อง 


หัวหน้างาน หรือหัวหน้าพื้นที่ จะต้องสอนให้บุคลากรใช้อุปกรณ์ในการทำความสะอาดอย่างถูกต้อง เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้มีความ แตกต่างกัน ทั้งโครงสร้างกลไก ระบบไฟฟ้า บุคลากรจะต้องทราบสิ่งเหล่านี้เพื่อจะได้ทำความสะอาดได้อย่างถูกต้อง ระมัดระวังไม่ให้ถูกน้ำ เพราะอาจจะทำให้เกิดการช๊อตได้ หรือการห้ามใช้น้ำยาทำความสะอาดในบริเวณที่ใช้ไม่ได้ เช่น ห้ามใช้ทินเนอร์ลบกระดานไวท์บอร์ด เป็นต้น


6. ทำความสะอาดทุกวันจนเป็นนิสัย 


หากบุคลากรทำความสะอาดอยู่ทุกวัน แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นอาจทำเพราะได้รับคำสั่งจากหัวหน้างาน แต่หากมีการทำความสะอาด อยู่ทุกวันแล้ว บุคลากรก็จะเคยชินกับการทำความสะอาด จนในที่สุดบุคลากรก็จะทำความสะอาดาจนเป็นนิสัย

สิ่งที่จะได้รับจากการทำ ส สะอาด มีดังนี้
 ทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานดี บรรยากาศในการทำงานดี บุคลากรมีความกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น
 หากเริ่มมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะสามารถทราบได้อย่างรวดเร็ว
 อายุการใช้งานของครุภัณฑ์ยาวนานขึ้น เนื่องจากเมื่อพบสิ่งผิดปกติเพียงเล็กน้อย จะแก้ไขได้ก่อนที่จะลุกลามบานปลาย
 ประสิทธิภาพของครุภัณฑ์ดีขึ้น
 บุคลากรรู้สึกเป็นเจ้าของหน่วยงาน
 ผู้มารับบริการที่มาเยี่ยมชม มีความเชื่อถือต่อองค์กรเพิ่มมากขึ้น





หัวใจของ ส สะอาด
การทำความสะอาดเป็นการตรวจสอบ

ที่มา http://www.edu.nu.ac.th/5seiri/home/seiso.asp

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น